หมึกกล้วย หมึกยักษ์ และ หมึกกระดอง ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มพวกเซฟาโลพอด ซึ่งเป็นกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำเค็มที่มีหัวขนาดใหญ่ และ หนวด บางครั้ง ชาวประมงจะเรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า “ปลาหมึก” ตามความสามารถในการพ่นน้ำหมึก ซึ่งเป็นวิธีเอาตัวรอดของสัตว์ทะเลกลุ่มนี้ ปลาหมึกส่วนใหญ่มีถุงน้ำหมึกที่สร้างและบรรจุน้ำหมึกซึ่งประกอบไปด้วยเมลานินที่ความเข้มข้นสูง กรดอะมิโนอิสระ เอนไซม์ไทโรซิเนส และฮอร์โมนโดปามีน ความหลากหลายทางองค์ประกอบในน้ำหมึกของหมึกชนิดต่างๆ ทำให้เกิดสีน้ำหมึกที่แตกต่างกัน เช่น สีดำจากหมึกยักษ์ สีน้ำเงินดำจากหมึกกล้วย และสีน้ำตาลจากหมึกกระดอง เมื่อถูกคุกคาม ปลาหมึกจะพ่นส่วนผสมระหว่างหมึกและน้ำออกมายังทิศทางของผู้ล่าเพื่อเป็นกลไกการหลบหนี สารเมลานินจะทำให้น้ำเป็นสีขุ่นเข้ม ในขณะที่เอนไซม์ไทโรซิเนสระคายเคืองตา และบดบังความสามารถในการรับกลิ่นของศัตรูไปชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ปลาหมึกสามารถหลบหนีการไล่ล่าจากศัตรูได้
ที่น่าประหลาดใจก็คือ ปลาหมึกไม่ใช่สิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ได้รับประโยชน์จากน้ำหมึกของมันเนื่องจาก มนุษย์เองก็ได้นำน้ำหมึกมาใช้ในด้านต่างๆ เช่นกัน การใช้ประโยชน์จากน้ำหมึกที่เป็นที่รู้จักกันดีก็คือในอาหารแถบเมดิเตอร์เรเนียน ที่มีการผสมน้ำหมึกลงไปในเส้นพาสต้าหรือข้าวเพื่อให้อาหารนั้นมีสีเข้มที่เป็นเอกลักษณ์และรสเค็ม นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบประโยชน์อื่นๆ ของน้ำหมึก เช่น การใส่น้ำหมึกลงในอาหารไก่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันและอัตราการโตของไก่เนื้อ และที่สำคัญที่สุด สารที่สกัดจากน้ำหมึกของปลาหมึกกล้วยยังสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเนื้องอกและยับยั้งการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็งซึ่งมีความเป็นไปได้ที่มันจะถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
คอลัมน์ Science Zone
ผู้เขียน วนนิตย์ (I Get English Magazine)